วันที่นำเข้าข้อมูล 7 เม.ย. 2565
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 7 เม.ย. 2565
นิตยสาร New Business Age ฉบับวันที่ 17 มกราคม ค.ศ. 2022 รายงานว่า ราคาข้าวโพดและถั่วเหลือง ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตอาหารสัตว์ปีก ได้พุ่งสูงขึ้นในตลาดต่างประเทศ ในขณะที่เกษตรกรถูกบังคับให้ขายไก่ในราคาต่ำกว่าครึ่งราคาต้นทุน เนื่องจากจำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ลดลงอย่างกะทันหัน ซึ่งนำไปสู่ภาวะวิกฤตในธุรกิจสัตว์ปีกของเนปาล ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนเมษายน 2564 รัฐบาลเนปาลได้ประกาศว่าเนปาลสามารถพึ่งพาตนเองได้ในเรื่องปศุสัตว์
สหพันธ์สัตว์ปีกเนปาลไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนของเกษตรกรที่ออกจากธุรกิจสัตว์ปีกหลังจากที่ราคาอาหารสัตว์ปีกพุ่งสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการกล่าวว่า จำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกลดลงอย่างมาก ซึ่งส่งผลให้แม้แต่อุตสาหกรรมโรงเพาะฟักก็ยังอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก
นาย Dinesh Mishra เลขาธิการสหพันธ์สัตว์ปีกเนปาล กล่าวว่า อุตสาหกรรมโรงเพาะฟักกำลังประสบปัญหา เนื่องจากความต้องการไก่ลดลงอย่างกะทันหันหลังจากที่เกษตรกรหยุดเลี้ยงไก่ โดยราคาวัตถุดิบเพิ่มขึ้นเท่าตัวในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา รวมถึงราคาธัญพืชที่เพิ่มขึ้น 6 รูปีเนปาลต่อกิโลกรัม ตัวอย่างเช่น ถั่วเหลือง ซึ่งเคยมีราคา 60 รูปีเนปาลต่อกิโลกรัม ได้เพิ่มขึ้นเป็น 120 รูปีเนปาลต่อกิโลกรัม ส่วนข้าวโพด ซึ่งเคยมีราคา 28 รูปีเนปาลต่อกิโลกรัมได้เพิ่มขึ้นเป็น 40 รูปีเนปาลต่อกิโลกรัม
นอกจากนี้ รัฐบาลเนปาลยังได้ปรับเพิ่มภาษีนำเข้าข้าวโพดและถั่วเหลืองจากร้อยละ 1.6 เป็นร้อยละ 10 โดยคำนึงว่า ปัจจุบัน การผลิตอาหารสัตว์ปีกในเนปาลมีความจำเป็นต้องนำเข้าข้าวโพดและถั่วเหลืองจากต่างประเทศ ประมาณร้อยละ 80 และ 99 ตามลำดับ โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา บราซิล และอินเดีย
นาย Mishra เลขาธิการสหพันธ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ผู้ค้าสัตว์ปีกรู้สึกท้อแท้ต่อภาระที่ต้องจ่ายภาษีนำเข้าร้อยละ 10 สำหรับข้าวโพดและถั่วเหลือง ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 80 ของวัตถุดิบในอาหารสัตว์ปีกข้อกำหนดดังกล่าวของรัฐบาลเนปาลทำให้สาขาธุรกิจสัตว์ปีกอยู่บนเส้นด้าย”
แหล่งที่มา
http://www.newbusinessage.com/Articles/view/14633
หมายเหตุ สามารถสืบค้าข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับธุรกิจสัตว์ปีกในเนปาล รวมถึงอัพเดทสถานการณ์โรคไข้หวัดนกในเนปาล ได้ที่เว็บไซต์ Department of Livestock Services เนปาล (https://dls.gov.np/home)