วันที่นำเข้าข้อมูล 22 ก.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,850 view

ความสัมพันธ์ไทย-เนปาล

ไทยและเนปาลสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2502 เอกอัครราชทูต ณ กรุงกาฐมาณฑุ คนปัจจุบัน คือ
นายโวสิต วรทรัพย์ และเอกอัครราชทูตเนปาลประจำประเทศไทย คือ H.E. Mr. Ganesh Prasad Dhakal

ในช่วงเมษายน-กันยายน 2563 การส่งออกและการนำเข้าลดลงอย่างเห็นได้ชัดเนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 โดยอยู่ที่ 449.04 ล้านบาท และ 6.75 ล้านบาท ซึ่งลดลงจาก 2,089.58 ล้านบาท และ 10.12 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา หรือคิดเป็นร้อยละ 79 และ 33.23 ตามลำดับ สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปเนปาลได้แก่ เส้นใยประดิษฐ์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ สินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากเนปาลได้แก่ หนังดิบและหนังฟอก ธัญพืชและธัญพืชสำเร็จรูป

ในด้านการท่องเที่ยว ในช่วงเมษายน-กันยายน 2563 เนปาลไม่มีนักท่องเที่ยวจากไทย เมื่อเปรียบเทียบกับ 29,901 คน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งได้สร้างรายได้ 1,553 ล้านบาท

เนปาลได้เชิญชวนให้เอกชนไทยเข้าไปลงทุนในเนปาล โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมผ้าไหม กาแฟ ผลผลิตทางการเกษตรที่มีมูลค่าสูง และการลงทุนที่จะพัฒนาพืชสวนและไม้ตัดดอก โครงสร้างพื้นฐาน

ความร่วมมือด้านศาสนาและวัฒนธรรมเป็นอีกมิติความสัมพันธ์ที่มีความสำคัญระหว่างไทยกับเนปาล โดยเฉพาะด้านศาสนา ในฐานะที่เมืองลุมพินีเป็นที่ตั้งของสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า หรือเมืองจานักปูร์ ซึ่งคือเมืองมิถิลาในพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก ซึ่งเชื่อมโยงกับแนวคิดการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนา (Buddhist circuit) รวมถึงการจัดทำแพ็คเกจทัวร์แบบ combined destination

ด้านความร่วมมือทางวิชาการ ไทยได้มีความร่วมมือทางวิชาการกับเนปาลตั้งแต่ปี 2520 โดยเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในรูปแบบของการให้ทุนฝึกอบรมภายใต้กรอบความร่วมมือต่าง ๆ เช่น ความร่วมมือทวิภาคี ผ่านหลักสูตรฝึกอบรมนานาชาติประจำปี (Annual International Training Courses - AITC) ความร่วมมือไตรภาคี และโครงการฝึกอบรมประเทศที่สาม (Third Country Training Programme - TCTP) ในหลายสาขา เช่น การเกษตร สาธารณสุข วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐานเศรษฐศาสตร์ การพัฒนาสังคม และการค้าการลงทุน โดยเนปาลได้รับทุนเฉลี่ยปีละประมาณ 25-30 ทุน ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ไทยได้เริ่มแจ้งเวียนทุนศึกษาระดับปริญญาโทหลักสูตรนานาชาติประจำปี (Thai International Postgraduate Programme - TIPP) ให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ รวมทั้งเนปาลด้วย

นอกจากนี้ ไทยมีบทบาทในฐานะประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือแก่เนปาลในโอกาสต่าง ๆ อาทิ การให้ความช่วยเหลือกรณีแผ่นดินไหวเนปาลปี 2558 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ๑๐ ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย และในการนี้ รัฐบาลไทยยังได้เปิดบัญชีธนาคารในชื่อ “หัวใจไทย ส่งไปเนปาล” เพื่อรับบริจาคเงินช่วยเหลือจากประชาชนชาวไทยรวมทั้งสิ้นประมาณ 10.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งได้มอบแก่รัฐบาลเนปาล องค์การอนามัยโลก กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ และสำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office for the Coordination of Humanitarian Affairs - UNOCHA) นอกจานี้ สภากาชาดไทยได้มอบเงินที่ได้รับบริจาคจากประชาชนไทยรวมจำนวนทั้งสิ้น 4.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่สภากาชาดเนปาลเพื่อก่อสร้างศูนย์บริการโลหิตกลางของสภากาชาดเนปาล ณ กรุงกาฐมาณฑุด้วย

ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานอุปกรณ์ทางการแพทย์และสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ แก่รัฐบาลเนปาล ตามคำทูลขอของนางพิทยา เทวี ภัณฑรี ประธานาธิบดีแห่งเนปาล ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา โปรดเกล้าฯ พระราชทานชุดป้องกันส่วนบุคคล (PPE) โดยเสด็จพระราชกุศลด้วย นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้มอบเครื่องผลิตออกซิเจนจำนวน 9 เครื่องในนามรัฐบาลไทยด้วย