กฎระเบียบที่ควรรู้
กฎระเบียบที่ควรรู้
วันที่นำเข้าข้อมูล 28 ก.ย. 2564
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 24 พ.ย. 2565
การนำเข้า
การนำเข้าในเนปาลอยู่ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม พาณิชย์ และการจัดหา (Ministry of Industry, Commerce and Supplies) และกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง (Department of Customs, Ministry of Finance) โดยในหลัการ ไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตการนำเข้า ยกเว้นสิ่งของที่ห้ามนำเข้าและเกินประมาณที่กำหนด รวมทั้งสินค้าบางประเภท เช่น ขนสัตว์ ยารักษาโรค เคมีภัณฑ์ทางอุตสาหกรรม ต้องมีใบรับรองการตรวจสอบคุณภาพด้วย
สำหรับการนำเข้าพืชและผลิตภัณฑ์พืช ผู้นำเข้าต้องขอใบอนุญาตจากศูนย์กักกันพืชและจัดการสารกำจัดศัตรูพืช กระทรวงเกษตรและการพัฒนาปศุสัตว์ (Plant Quarantine and Pesticide Management Center, Ministry of Agriculture and Livestock Development) โดยต้องกรอกแบบฟอร์มรายละเอียดของพืชและสาเหตุการนำเข้า พร้อมยื่นเอกสารที่เกี่ยวข้อง เช่น ใบจดทะเบียนภาษีเงินได้ ใบจดทะเบียนธุรกิจ และผ่านการตรวจที่ด่านกักกันพืช ซึ่งมี 7 แห่งทั่วประเทศ จึงได้ใบรับรองการนำเข้าพืชและสุขอนามัย ทั้งนี้ ในกรณีที่เป็นการนำเข้าเพื่อการวิจัย ต้องยื่นใบขออนุญาต พร้อมหนังสือจากสถาบันที่เกี่ยวข้อง
สำหรับการนำเข้าขนสัตว์ในการทอพรม รัฐบาลเนปาลอนุญาตให้นำเข้าขนสัตว์ที่มีความยาวอย่างน้อย 4 นิ้ว และความหนาไม่เกิน 38 ไมครอน โดยจะต้องแสดงใบรับรองจากหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตโดยกรมศุลกากร
การคำนวณภาษีการนำเข้าเป็นไปตามมูลค่าที่ผู้นำเข้าระบุในแบบฟอร์ม และประเมินราคาซื้อขายในเนปาล โดยผู้นำเข้าต้องยื่นใบกำกับภาษี ใบชำระหนี้ และเอกสารที่ศุลกากรกำหนดเพื่อยืนยันราคาซื้อขาย ทั้งนี้ ไม่มีการเรียกเก็บเงินจากการนำเข้าสินค้าจนกว่าจะมีการประเมินราคาเพื่อวัตถุประสงค์ในการคำนวณภาษีแล้วเท่านั้น
วิธีนำเข้าจากอินเดีย
เนปาลและอินเดียมีความตกลงพิเศษระหว่างกัน โดยยกเว้นและลดหย่อนภาษีสำหรับสินค้าบางประเภท ซึ่งใช้เอกสารประกอบการนำเข้าที่แตกต่างจากประเทศอื่น และดำเนินการตามพิธีการด้านศุลกากรที่กำหนด สินค้าที่ได้รับสิทธิพิเศษระหว่างเนปาลและอินเดียได้แก่
1. เกษตรกรรม พืชสวน การปลูกดอกไม้และผลิตผลป่า
2. ไม้แร่ที่ไม่ผ่านการแปรรูปใดๆ
3. ข้าว แป้ง และแกลบ
4. ไม้แปรรูป น้ำตาลโตนด ปศุสัตว์ นกที่เลี้ยงในฟาร์ม และปลา
5. ผึ้ง ขี้ผึ้ง และน้ำผึ้ง
6. ขนแกะดิบ ขนแพะ ขนแปรงและกระดูกที่ใช้ในการผลิตกระดูกป่น
7. นม ผลิตภัณฑ์โฮมเมดจากนมและไข่
8. น้ำมันพืช
9. สมุนไพร ยาสมุนไพร รวมทั้งน้ำมันและสารสกัด
10. สิ่งของที่ผลิตโดยช่างฝีมือชาวบ้าน
11. ไม้อัครา
12. หางจามรี
13. หินรวม ก้อนหิน ทราย และกรวด
14. ผลิตภัณฑ์หลักอื่นใดที่อาจตกลงร่วมกันได้
เอกสารที่จำเป็นสำหรับการนำเข้าสินค้าจากอินเดีย
1. หนังสือมอบอำนาจแก่ผู้แทนดำเนินการด้านศุลกากร
2. คำสั่งจัดส่งของ Terminal Management Company (TMC) ในกรณีคลังเก็บสินค้าภายในประเทศที่ Biratnagar, Birgunj และ Bhairahawa
3. ใบแจ้งหนี้
4. เอกสารที่กรมศุลกากรเนปาลกำหนด
5. รายการสินค้า
6. เอกสารเพิ่มเติมสำหรับสินค้าบางประเภท เช่น ใบรับรองการกักกันพืชและสุขอนามัยพืช รายงานการทดสอบในห้องปฏิบัติการสำหรับผลิตภัณฑ์อาหาร รายงานการตรวจวิเคราะห์สารเคมี ใบรับรองสำหรับขนแกะ ใบรับรองสัตวแพทย์สำหรับสัตว์
เอกสารที่จำเป็นสำหรับการนำเข้าจากประเทศที่สาม โดยผ่านอินเดีย (แสดงที่ด่านศุลกากรของเนปาล)
1. แบบฟอร์ม BBN 4 ของธนาคารกลางเนปาล
2. ใบส่งสินค้า
3. หนังสือรับรองการประกันสินค้า
4. สำเนา L/C หรือการชำระเงินล่วงหน้าที่ผ่านการรับรองเอกสารแล้ว
5. เอกสาร COO ทั้งนี้ เฉพาะสินค้านำเข้าที่ได้รับอัตราภาษีพิเศษเนื่องจากแหล่งกำเนิดสินค้า
6. เอกสาร Custom Transit Declaration (CTD)
7. คำสั่งจัดส่งของ Terminal Management Company (TMC) ในกรณีคลังเก็บสินค้าภายในประเทศที่ ที่ Biratnagar,Birgunj และ Bhairahawa
8. ใบรับรองการจดทะเบียนธุรกิจ
9. ใบแจ้งหนี้
10. หนังสือมอบอำนาจสำหรับ Clearing Agent (CA)
11. เอกสารที่กรมศุลกากรของเนปาลกำหนด
12. รายการสินค้า
13. ใบรับรองการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม/PAN
14. รายงานผลการตรวจสอบคุณภาพผ้าขนสัตว์ หากมี
15. เอกสารเพิ่มเติมสำหรับสินค้าบางประเภท เช่น ใบรับรองการกักกันพืชและสุขอนามัยพืช รายงานการทดสอบในห้องปฏิบัติสำหรับผลิตภัณฑ์อาหาร รายงานการตรวจวิเคราะห์สารเคมี ใบรับรองสำหรับขนแกะ ใบรับรองสัตวแพทย์สำหรับสัตว์
ทั้งนี้ โดยปกติ เอกสารหมายเลข 1,2 และ 12 ไม่จำเป็นสำหรับพิธีการยกเว้นภาษี ในขณะที่เอกสารหมายเลข 3 จะใช้สำหรับการประเมินราคาทางศุลกากร โดยกรมศุลกากรจะตรวจสอบเอกสาร BBN 4 และ L/C จากนั้น กรมศุลกากรจะรับรอง BBN 4 เพื่อให้ผู้นำเข้ามอบให้กับธนาคาร และจะประเมินภาษีที่ผู้นำเข้าจะต้องชำระก่อนออกสินค้า ซึ่งเมื่อออกสินค้าแล้ว กรมศุลกากรของเนปาลจะคืนเอกสารต้นฉบับให้ผู้นำเข้าและส่งสำเนาเอกสารไปให้หน่วยงานศุลกากรของอินเดียที่ชายแดน ทั้งนี้ ผู้นำเข้าจะต้องส่ง CTD ไปยังหน่วยงานศุลกากรของอินเดียที่ชายแดน ภายใน 15 วัน นับจากวันที่ออกสินค้าที่ท่าเรือขาเข้าของอินเดีย หรือขยายเวลาตามที่กรมศุลกากรอนุญาต
วิธีนำเข้าทางอากาศ
เมื่อสินค้าถึงสนามบินนานาชาติภูวันแล้ว ผู้นำเข้าจะต้องติดต่อกรมศุลกากรที่สนามบินฯ พร้อมแสดงเอกสาร ดังนี้
1. แบบฟอร์มในการส่งสินค้าทางอากาศ
2. แบบฟอร์ม BBN 4 ของธนาคารกลางเนปาล
3. หนังสือรับรองการประกันสินค้า
4. สำเนา L/C หรือการชำระเงินล่วงหน้าที่ผ่านการรับรองเอกสารแล้ว
5. เอกสาร COO ทั้งนี้ เฉพาะสินค้านำเข้าที่ได้รับอัตราภาษีพิเศษเนื่องจากแหล่งกำเนิดสินค้า
6. ใบรับรองการจดทะเบียนธุรกิจ
7. ใบแจ้งหนี้
8. หนังสือมอบอำนาจสำหรับ CA
9. เอกสารที่กรมศุลกากรของเนปาลกำหนด
10. รายการสินค้า
11. ใบรับรองการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม/PAN
12. เอกสารเพิ่มเติมสำหรับสินค้าบางประเภท เช่น ใบรับรองการกักกันพืชและสุขอนามัยพืช รายงานการทดสอบในห้องปฏิบัติการ สำหรับผลิตภัณฑ์อาหาร รายงานการตรวจวิเคราะห์สารเคมี ใบรับรองสำหรับขนแกะ ใบรับรองสัตวแพทย์สำหรับสัตว์
13. รายงานผลการตรวจสอบคุณภาพผ้าขนสัตว์ หากมี
ทั้งนี้ กรมศุลกากรเนปาลจะใช้มูลค่าธุรกรรมเป็นฐานสำหรับการประเมินภาษี โดยใช้ข้อมูลจากเอกสารหมายเลข 3 ซึ่งเมื่อผู้นำเข้าหรือ CA ชำระภาษีและแสดงเอกสารที่กรมศุลกากรของเนปาลกำหนด พร้อมใบเสร็จรับเงินในการออกสินค้าแล้ว ผู้นำเข้าก็สามารถเตรียมขนถ่ายสินค้าจากคลังสินค้าที่สนามบินฯ ไปยังคลังสินค้าของตน
แหล่งที่มา https://nepaltradeportal.gov.np/web/guest/guide-to-importing