สถานการณ์การนำเข้าปุ๋ยเคมีในเนปาล ณ พ.ย. 2564

สถานการณ์การนำเข้าปุ๋ยเคมีในเนปาล ณ พ.ย. 2564

วันที่นำเข้าข้อมูล 7 ม.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 458 view

fertiliser

หนังสือพิมพ์ The Kathmandu Post ฉบับวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 2021 รายงานว่า เกษตรกรหลายรายกำลังประสบกับปัญหาการขาดแคลนปุ๋ย ซึ่งจำเป็นต่อการปลูกพืชผลในฤดูหนาว อาทิ ข้าวสาลี มัสตาร์ด และพัลส์ โดยกังวลว่าอาจพลาดช่วงหว่านเมล็ด มิฉะนั้น จะส่งผลต่อการปลูกและเก็บเกี่ยวพืชผลในเวลาที่เหมาะสมต่อไป

การขาดแคลนปุ๋ยไนโตรเจนทั่วโลกทำให้ราคาสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ซึ่งทำให้เนปาลชะลอการนำเข้าวัตถุดิบ กอปรกับรัฐบาลเนปาลมีการควบคุมตลาดปุ๋ยเคมี จึงมีความเสี่ยงที่เกษตรกรจะไม่ได้รับปุ๋ยพืชเพียงพอก่อนฤดูเพาะปลูก รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของราคาปุ๋ยจะสะท้อนในต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นด้วย

กระทรวงเกษตรเนปาลระบุว่า ความต้องการปุ๋ยเคมีประจำปีของเนปาลในปัจจุบันอยู่ที่มากกว่า 700,000 ตัน แต่มีการนำเข้าอยู่ที่ประมาณ 300,000 ตัน หรือคิดเป็นประมาณ 40% ซึ่งส่วนที่เหลือมีการลักลอบนำเข้าจากอินเดียอย่างไม่เป็นทางการ

ปัจจุบัน มีเพียงสหกรณ์การเกษตรเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้จัดการเรื่องปุ๋ยที่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาล ในขณะที่ เกษตรกรบางรายที่หันไปใช้ปุ๋ยที่ลักลอบนำเข้าจากอินเดียก็มีความกังวลเกี่ยวกับผลผลิต เนื่องจากสินค้าที่ลักลอบนำเข้ามีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน

นาย Rajendra Upreti โฆษกกระทรวงเกษตรเนปาล ประจำจังหวัดที่ 1 กล่าวว่า ความต้องการปุ๋ยเคมีของจังหวัดที่ 1 อยู่ที่ 8,000 ตัน แต่ผู้นำเข้าของรัฐบาล ซึ่งมีเพียงรายเดียว ได้จัดสรรให้เพียง 4,500 ตัน จึงทำให้เกิดการแย่งชิงปุ๋ยเคมีระหว่างเกษตรกรในจังหวัด ในขณะที่ นาย Navaratna Gautam หัวหน้าสำนักงาน Biratnagar ของบริษัท Agriculture Inputs Company ผู้นำเข้าปุ๋ยเคมีของรัฐบาล กล่าวว่า การขาดแคลนเกิดขึ้น เนื่องจากราคาไดแอมโมเนียมฟอสเฟตที่สูงขึ้นถึง 80% ในเดือนพฤศจิกายนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาจาก 450 ดอลลาร์ต่อตัน เป็น 825 ดอลลาร์ต่อตัน ส่วนราคายูเรียเพิ่มขึ้น 140% จาก 359 ดอลลาร์ต่อตัน เป็น 859 ดอลลาร์ต่อตัน

 

แหล่งที่มา
https://kathmandupost.com/money/2021/11/26/farmers-scramble-for-fertiliser-as-planting-season-closes-in